ชีวิตที่น่าหดหู่ที่สุดคือชีวิตที่ขาดรัก ไม่รู้แน่ชัดว่ามีใครรักเรา จึงไม่มีความสุข ขาดแรงจูงใจในการดำเนินชีวิต ความภาคภูมิใจในตัวเองต่ำ ภายในจิตใจว่างเปล่าต้องไขว่คว้าหาสิ่งภายนอกเข้ามาเติมเต็มไม่รู้จบ
ความรักเป็นรากฐานด้านจิตใจที่สำคัญที่สุดของชีวิต การบรรจุความรักลงในตัวใครสักคนจึงต้องทำตั้งแต่แรกเกิด (โดยส่วนตัว ครูคิดว่าต้องทำตั้งแต่รู้ว่ามีอีกหนึ่งชีวิตอยู่ในท้องเราเลยด้วยซ้ำ) ไม่ใช่มาทำเมื่อเด็กเริ่มพูดสื่อสารได้หรือทำตอนลูกโตเป็นวัยรุ่นแล้วเพราะบางอย่างก็สายเกินไป
เด็กรับรู้ได้ว่าตนเองเป็นที่รักและมีความหมายต่อคนใกล้ตัวผ่านสิ่งที่เรียกว่าภาษารัก หรือ Love Language ซึ่งเป็นมากกว่าคำบอกรักของพ่อแม่ที่มีต่อลูก
ภาษารัก คือ สิ่งที่เด็กรับรู้และสัมผัสได้จากการแสดงออกของคนใกล้ตัว (พ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่ พี่น้อง) ที่มาพร้อมกับความห่วงใย ความปรารถนาดี เอื้ออารี ชื่นชม ปลอบประโลม และจริงใจต่อกัน อาจมาในรูปแบบสัมผัสอ่อนโยนทางร่างกาย คำพูดที่ทำให้ใจฟู การได้ใช้เวลาดีๆร่วมกัน การให้สิ่งของเล็กๆน้อยๆแก่กัน แม้แต่การลงมือทำบางอย่างที่ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกขอบคุณมากๆจริงๆ
ภาษารักมีอยู่ด้วยกัน 5 รูปแบบหรือมักเรียกกันว่า 5 Love Languages เด็กแต่ละคนจะมีภาษารักเป็นของตัวเองและภาษารักในเด็กคนเดียวกันนั้นอาจเปลี่ยนไปตามช่วงวัย ภาษารักทั้ง 5 ได้แก่
ภาษารักที่ 1 : การสัมผัสทางกาย (Physical Touch)
แสดงออกด้วยการกอด หอมแก้ม เอาลูกนั่งบนตักระหว่างอ่านนิทาน ลูบหัว ลูบหลัง เกาหลัง นวดไหล่ เล่นขี่หลัง เล่นเกลือกกลิ้งกันสนุกสนาน
การสัมผัสเป็นภาษารักที่ใช้ง่ายที่สุดเพราะพ่อแม่ไม่ต้องรอโอกาสพิเศษใดๆที่จะแสดงออก และเป็นสิ่งที่เด็กสัมผัสได้ตั้งแต่แรกเกิด เช่น ความอบอุ่นจากการกินนมที่อกแม่ สัมผัสที่อ่อนโยนระหว่างเปลี่ยนผ้าอ้อม แม่กล่อมเข้านอน เป็นต้น
มีงานวิจัยระดับนานาชาติยืนยันว่าเด็กอ่อนที่ได้รับการอุ้ม กอด และหอมรวมถึงการสัมผัสทางกายที่มากพอจะมีพัฒนาการด้านอารมณ์ที่มั่นคงกว่าเด็กที่ถูกทอดทิ้งเป็นเวลานานโดยไม่ได้รับการสัมผัส และสัมผัสทางกายที่เด็กได้รับจะกลับคืนสู่พ่อแม่แบบที่พ่อแม่ทำกับเขาไปอีกนานหลายปี โดยเฉพาะลูกสาวที่มีเรื่องการหลีกเลี่ยงสัมผัสทางกายมีน้อยกว่าลูกชาย
ภาษารักที่ 2 : ถ้อยคำที่เสริมสร้าง (Words of Affirmation)
ถ้อยคำเป็นสิ่งที่ทรงพลัง คำพูดที่ถ่ายทอดความรักใคร่เอ็นดู ห่วงใย ให้กำลังใจ ปลอบประโลม ชื่นชม ชมเชยเปรียบเหมือนฝนชุ่มฉ่ำที่ชะโลมจิตใจ เป็นถ้อยคำแบบเสริมสร้าง แม้กาลเวลาผ่านไปคำพูดเหล่านี้ก็ยังคงอยู่ในความทรงจำเป็นที่พึ่งพิงทางใจให้มีพลังในการใช้ชีวิตต่อไป
ถ้อยคำที่ดียังช่วยระงับความโกรธของลูก เปลี่ยนสถานการณ์ที่คุกรุ่นให้เบาลงได้ แม้แต่คำขอโทษจากสิ่งที่พ่อแม่ทำผิดพลาดไปก็ทำให้บรรยากาศในบ้านอบอุ่นเต็มไปด้วยความเข้าใจต่อกัน ในทางกลับกัน คำพูดที่หักหาญทำร้ายใจกันก็สร้างแผลในใจลูกไปตลอดชีวิต
ภาษารักที่ 3 : เวลาคุณภาพ (Quality Time)
เวลาคุณภาพเป็นช่วงเวลาที่เด็กได้รับการสนใจจดจ่ออย่างเต็มที่ ทำกิจกรรมร่วมกันโดยปราศจากการแทรกแซงของบุคคลที่ 3 เช่น พ่อนั่งบนพื้นเล่นต่อเลโก้กับลูกชายโดยไม่ตอบ Line ไม่ดู Facebook หรือทำกิจกรรมอื่นๆที่ละความสนใจจดจ่อไปจากลูก สิ่งที่สำคัญที่สุดในการให้เวลาลูก ไม่ใช่สิ่งที่ทำ แต่คือการได้ทำสิ่งนั้นด้วยกันหรือการได้อยู่ด้วยกัน หลักจิตวิทยาการเลี้ยงดูระบุไว้ว่าเด็กไม่ได้ต้องการเวลาคุณภาพจากพ่อแม่มากมายนัก เพียงวันละ 20 - 30 นาทีก็เพียงพอต่อความต้องการของเด็กคนหนึ่งแล้ง
ภาษารักที่ 4 : ของขวัญ (Receiving Gifts)
ของขวัญในภาษารักไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งของเสมอไป อาหารที่ลูกชอบ การออกไปทานข้าวด้วยกันที่ร้านโปรดของลูกหรือโปสการ์ดที่เขียนถึงลูกเวลาพ่อแม่เดินทางไปต่างประเทศก็เป็นของขวัญอันมีค่ายิ่งสำหรับลูกได้
ของขวัญที่เป็นวัตถุสิ่งของสำหรับเด็กไม่จำเป็นต้องเป็นของที่มีราคาสูงแต่เป็นของที่ลูกให้คุณค่ากับสิ่งนั้น เช่น ดินสอสีไม้ที่ลูกอยากได้จำนวนสีมากขึ้น กล่องดินสอที่ลูกวนเวียนดูครั้งแล้วครั้งเล่า สมุดวาดภาพแบบไม่มีเส้นเพื่อจะวาดรูปได้อย่างเต็มที่ ขนมที่ลูกชอบ เป็นต้น
ของขวัญบางอย่างจากพ่อแม่สามารถอยู่กับลูกไปได้อีกหลายสิบปีและเป็นของที่ระลึกถึงความรักที่พ่อแม่มีต่อลูกได้อย่างชัดเจน
ภาษารักที่ 5 : ความสุขสบาย / เอาใจ (Acts of Service)
อาหารที่เตรียมไว้ให้ลูกก่อนออกไปทำงาน ห่มผ้าให้ลูก เวลาลูกไม่สบายก็ทำอาหารพิเศษให้ลูก ช่วยถือของที่พะรุงพะรังหรือหนักเกินไป แม้แต่การนั่งข้างๆลูกเวลาลูกทำการบ้านก็เป็นการช่วยแบ่งเบาความตึงเครียดให้ลูกรู้สึกว่าเขาไม่ได้สู้อยู่คนเดียวและรู้สึกสบายใจมากขึ้น
ประเด็นสำคัญส่งท้าย
โดยปกติแล้ว เด็กทุกคนมี “ภาษารัก” เป็นของตนเอง เด็กบางคนรู้สึกพิเศษซาบซึ้งกับการอำนวยความสะดวกให้เขาสุขสบาย บางคนชอบของขวัญ และสำหรับบางคนแล้ว เวลาคุณภาพคือสิ่งที่เขาต้องการมากกว่าของขวัญ ถ้าพ่อแม่ค้นพบเจอว่าภาษารักหลักๆของลูกคืออะไรก็จะยิ่งสร้างความสัมพันธ์ได้ตรงกับตัวตนของลูกมากขึ้น อย่างไรก็ตาม พ่อแม่ควรแสดงออกทั้ง 5 ภาษารักเป็นคู่ขนานกันไปกับภาษารักหลักของลูกเพราะทุกภาษารักเป็นสิ่งมีคุณค่าสูงทั้งหมดและช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระยะได้อย่างแท้จริง
ภาษารักทำให้ลูกรู้ว่าเขาเป็นที่รักของคนรอบข้าง
ภาษารักทำให้ลูกรู้ว่าเขามีความหมายอย่างแท้จริง
ภาษารักทำให้ลูกภาคภูมิใจในตัวเอง
ภาษารักสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระยะยาวให้เกิดขึ้นระหว่างพ่อแม่และลูก
ภาษารักทำให้ลูกให้ความร่วมมือในสิ่งที่พ่อแม่ร้องขอหรือเตือนใจ
ภาษารักทำให้ลูกส่งต่อความรักให้พ่อแม่ คนในครอบครัว เพื่อน คู่สมรส เจ้านาย ลูกน้อง และคนในสังคมต่อไป
ภาษารักจึงเป็นมากกว่าคำบอกรักของพ่อแม่ต่อลูกแต่คือทุกสิ่งทุกอย่างที่พ่อแม่ทำให้ลูกด้วยความรัก ห่วงใยและสนิทเสน่หาอันเป็นสายสัมพันธ์ที่มีค่าสูงสุดที่จะอยู่ในตัวลูกตลอดไป และลูกจะนำไปส่งต่อให้กับคนรอบข้างที่เกี่ยวพันในชีวิตอย่างไม่รู้จบ สร้างสังคมแห่งความสุขของตนเองได้จากการบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ความรักที่เกิดจากพ่อแม่เป็นผู้หว่านไว้ตั้งแต่วัยแรกเริ่มของชีวิต
ด้วยรักจากใจ และอิ่มเอมใจระหว่างเขียนบทความที่มีคุณค่าต่อใจเช่นนี้
ครูปุ๊ก - ชลมาศ คูหารัตนากร
นักจัดกระบวนการเรียนรู้และนักสุขภาพจิตเด็ก
ผู้อำนวยการสถาบัน Play Academy
เอกสารอ้างอิง
Chapman, Gary D. The Five Love Languages. Walker Large Print, 2010
Comments