น่ายินดีที่ลูกดื้อ
ใช่ค่ะ คุณอ่านไม่ผิด
บทความนี้จะทำให้พ่อแม่เข้าใจความดื้อของลูกมากขึ้น
“ดื้อ” ตามความหมายทั่วไปคือ ไม่เชื่อฟัง บอกอีกอย่างทำอีกอย่าง ไม่ให้ความร่วมมือ จริงๆแล้วการดื้อของลูกคือการสื่อสารกับพ่อแม่อีกอย่างหนึ่งว่า เค้าไม่ชอบอะไร / ไม่อยากทำอะไร / ไม่อยากเผชิญกับอะไร การปฏิเสธผ่านสีหน้า แววตา น้ำเสียง และพฤติกรรมต่างๆจึงเกิดขึ้น
ธรรมชาติการทำงานของสมองชอบให้เรารักตัวเองมากๆ และชอบความสุข เมื่อไม่ชอบอะไรก็สั่งให้เราปฏิเสธ และหลีกเลี่ยงที่จะพบเจอกับสิ่งที่ไม่ชอบ
“ดื้อ” จึงเป็นเรื่องแสนธรรมดาที่เกิดขึ้นกับเด็กทุกคน และครูกลับมองเป็นเรื่องดีเสียอีกที่เด็กพัฒนาตัวตนได้มั่นคงมากขึ้น ชัดเจนว่าตัวเองชอบอะไรหรือไม่ชอบอะไร
ในทางตรงข้าม ถ้ายอมทำตามทุกอย่าง เชื่อฟังทุกเรื่อง ไม่มีเกี่ยงงอนเฉไฉนี้น่าเป็นห่วงเพราะผิดธรรมชาติของการพัฒนาตัวตน และการสมยอมทุกอย่างไม่ควรจะเกิดขึ้น ในเมื่อเราในฐานะพ่อแม่มักพูดเสมอว่า
อยากให้ลูกแก้ปัญหาเป็น
ก็ควรอนุญาตลูกให้คิดได้หลายแนวทาง
อยากให้ลูกมีไหวพริบ
เปิดโอกาสให้ลูกได้คิดและตัดสินใจเอง ไม่ตัดสินใจแทนลูกแทบทุกเรื่อง
อยากให้ลูก “สุขเป็น” ในสังคมที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
พ่อแม่ต้องเคารพในความสุขที่ลูกเลือก ไม่ยัดเยียดความสุขของพ่อแม่ให้ลูกสุขตาม
อยากให้ลูกทันคน ไม่โดนใครหลอกเอา
พ่อแม่ต้องไม่รำคาญเมื่อลูกซักถาม สนับสนุนให้ลูกถามข้อสงสัย สร้างนิสัยกล้าถามให้ลูก
อยากให้ลูกสู้คนเมื่อโดนเอาเปรียบ
ไม่ใช้อำนาจการปกครองจนลูกไม่มีอิสระทางความคิดหรือเข้มงวดไปทุกเรื่องจนลูกมีบุคลิกสมยอม และไม่สู้คนเพื่อรักษาผลประโยชน์ที่ตนเองพึงได้
ที่เหลือคือเรื่องที่พ่อแม่ต้องกำหนดขอบเขตของความดื้อให้พอดีกับบุคคล กาลเทศะ และสถานการณ์ต่อไป ถ้าดื้อจนขว้างปาข้าวของเสียหาย ด่าทอ ทำร้ายตัวเองและทำร้ายผู้อื่น ครูแนะนำให้ปรึกษาจิตแพทย์ต่อไปดีกว่าค่ะ
ขอให้ประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกนะคะ
❤️ ด้วยรักจากใจ ❤️
ครูปุ๊ก - ชลมาศ คูหารัตนากร
นักจัดกระบวนการเรียนรู้ และนักสุขภาพจิตเด็ก
ผู้อำนวยการสถาบัน Play Academy
Comments