top of page

Knowledge

playacademywebsite

ลูกพูดช้า พูดไม่ชัด พูดติดอ่าง : พ่อแม่จะช่วยลูกได้อย่างไร



- เกณฑ์ปกติของพัฒนาการด้านการพูดของเด็กไทยพบว่าเริ่มพูดคำแรกเมื่ออายุ 9 เดือน - 1.6 ขวบ


- ลูกอายุ 1.6 ขวบแม้ยังพูดไม่ได้แต่พ่อแม่ต้องเฝ้าสังเกตว่าลูกมีความเข้าใจภาษา เช่น แม่เรียกให้ “มานี่” แล้วลูกเดินมาหา หรือ แม่พูดว่า “หม่ำๆ” แล้วลูกรู้ว่าให้กินข้าว ถ้าพ่อแม่ดูแล้วว่าลูกไม่เข้าใจภาษาต้องรีบกระตุ้นการฟัง และการพูดโดยใช้ภาษากายเข้าช่วยอย่างต่อเนื่อง และสม่ำเสมอ


- ถ้าลูก 2 ขวบแล้วยังไม่พูดแสดงว่า “พัฒนาการทางการพูดล่าช้า” หรือมีความผิดปกติบางอย่างของสมองด้านการรับรู้และทำความเข้าใจรวมถึงอวัยวะในช่องปาก เนื่องจาก พยางค์หรือคำ 1 คำจะเกิดจากการควบคุมลม การกำกับปากและลิ้นทำงานร่วมกัน จึงควรรีบปรึกษาหมอด้านพัฒนาการ และนักแก้ไขการพูดเพื่อช่วยกระตุ้นลูกต่อไป


- เมื่อลูกพูดคำที่ 1 ได้แล้วควรมีคำที่ 2,3 และ 4 ตามมาภายใน 2 - 3 เดือน ไม่ใช่พูดได้คำเดียวแล้วก็ไม่พูดคำอื่นๆอีกเลย


- เมื่อลูกอายุตั้งแต่ 1.6 - 2 ขวบ ควรพูดได้ 1 - 2 คำติดกัน และสื่อความหมายให้ผู้ใกล้ชิดเข้าใจได้ เช่น หิวข้าว, หม่ำนม, แม่มานี่ เป็นต้น


- ก่อน 3 ขวบ แม้จะยังพูดไม่เป็นประโยค (มีประธาน กริยา กรรม) แต่ควรเป็นภาษาที่คนอื่นเข้าใจได้หรือสามารถบอกความต้องการของตนเองได้ เช่น ไปเล่นสนาม, อยากได้ของเล่น, ไม่ไปโรงเรียน แต่ถ้าพูดเป็นภาษาต่างดาวหรือภาษาการ์ตูน พ่อแม่ควรรีบปรึกษาแพทย์


#ก่อนที่เด็กคนหนึ่งจะพูดได้


ก่อนที่เด็กคนหนึ่งจะพูดได้นั้นต้องมีพัฒนาการด้านต่างๆที่สมวัยมาเป็นลำดับขั้น พัฒนาการทางการพูดของเด็กไม่ใช่เรื่องที่แยกตัวออกมาอย่างเป็นเอกเทศโดยที่พ่อแม่ไม่สนใจพัฒนาการก่อนหน้านี้เลย พัฒนาการทางการพูดสอดคล้องกับพัฒนาการด้านร่างกายเป็นอย่างยิ่ง พ่อแม่ต้องเฝ้าสังเกตการคว่ำ ยกคอ คลาน ยืน เดินของลูก ถ้าไม่สมวัยหรือล่าช้าควรรีบปรึกษาแพทย์ และกระตุ้นให้ลูกมีพัฒนาการที่สมวัยโดยเร็วที่สุด


เมื่อเด็กพูดไม่ได้ พูดช้า พูดไม่ชัด พูดติดอ่างจนคนรอบข้างไม่เข้าใจความหมายของสิ่งที่เด็กต้องการสื่อสาร เด็กจะเกิดความอึดอัดปั่นป่วนขึ้นในจิตใจทำให้โกรธเกรี้ยว ก้าวร้าว อารมณ์แรง เด็กหลายคนที่พูดไม่ชัดมักโดนเพื่อนล้อเลียนก็ทำให้อาย ไม่มั่นใจในตัวเอง เด็กที่พูดติดอ่างก็อาจมีความภาคภูมิใจในตัวเองต่ำ และรู้สึกผิด อับอายที่พูดต่อหน้าคนอื่นได้ไม่ดี กล่าวง่ายๆว่าความผิดปกติทางการพูดทุกอาการนำไปสู่ปัญหาในการใช้ชีวิตรวมถึงอารมณ์และจิตใจของเด็กเป็นอย่างมาก


#เกณฑ์สังเกตพัฒนาการทางการพูดของลูกว่าปกติหรือไม่?


- อายุ 1 ขวบ เด็กจะพูดคำ 1 คำที่มีความหมาย เช่น แม่ / หม่ำ / ไป / มา


- อายุ 2 ขวบ เริ่มพูดได้เป็นประโยคโดยใช้ 2 คำ เช่น กินข้าว / ไปเที่ยว / ปวดฉี่ / อาบน้ำ


- อายุ 3-4 ขวบ ลิ้นจะทำงานได้ดีขึ้น เด็กก็จะเริ่มออกเสียง ร.เรือ ล.ลิง ได้ และเล่าเรื่องราวง่ายๆที่เกิดขึ้นชีวิตประจำวันได้ เช่น วันนี้ครูให้ระบายสี / ตอนกินข้าวมีเพื่อนอ้วก / วันนี้ไม่ได้นอน


- อายุ 5 - 6 ขวบ เด็กจะสามารถเล่าเรื่องราวเป็นประโยคยาวๆได้ มีการเรียงประธาน กริยา และกรรมที่ถูกต้อง มีคำศัพท์ที่หลากหลาย เล่นกับผู้อื่นโดยใช้การสื่อสารด้วยการพูด - ทำความเข้าใจได้ดี วัยนี้เป็นวัยที่ทักษะทางสังคมได้รับการพัฒนาไปพร้อมๆกันการสื่อสารนั่นเอง


#พ่อแม่จะช่วยลูกให้มีพัฒนาการทางการพูดที่ดีได้อย่างไร


(1) พ่อแม่ต้องคอยหมั่นสังเกตพัฒนาการทุกด้านของลูก ตั้งแต่การได้ยิน ลูกมีการตอบสนองต่อเสียงต่างๆหรือไม่ เช่น หันตามทิศทางของเสียง สะดุ้งตื่น ร้องตกใจเมื่อมีเสียงดัง รวมถึงให้ความสำคัญกับพัฒนาการด้านร่างกายก่อนที่จะมาถึงการพูด (คว่ำ ชูคอ คืบ คลาน ยืน เดิน) ต้องเป็นไปอย่างสมวัย


(2) พ่อแม่เป็นต้นแบบของการพูดที่ดี เช่น พูดชัด ออกเสียงอักขระตัวอักษรให้ถูกต้อง ของขวัญ พูดว่า ของ - ขวัน ไม่ใช่ ของ - ฝัน / ไม้กวาด พูดว่า ไม้ - กวาด ไม่ใช่ ไม้ - ฝาด เป็นต้น รวมถึงออกเสียงคำควบกล้ำให้ถูกต้อง

(3) ไม่ใช้ภาษาเด็กหรือภาษาเบบี๋กับลูก เช่น ลองกินดูจิ / ยดไฟมาแย้ว / จี๋น้ำตาล / พ่อตุนะ เป็นต้น


(4) เมื่อลูกพูดไม่ชัดหรือพูดติดอ่าง พ่อแม่และผู้ใหญ่ใกล้ชิดไม่ควรทัก ตำหนิ ล้อเลียนหรือแสดงสีหน้าว่าเด็กมีความผิดปกติ ไม่มีเด็กคนไหนอยากมีปัญหาทางการพูด โดยเฉพาะเด็กพูดติดอ่าง กว่าเขาจะฟันฝ่าอุปสรรคของร่างกายและใจยอมพูดออกมาก็ยากสำหรับเขามากๆแล้ว


ควรรับฟังอย่างเป็นปกติ รอให้ลูกพูดจบ ทวนความเข้าใจในความหมายของสิ่งที่ลูกพูด ให้ลูกรู้สึกว่าเราฟังเขาอยู่ และไม่มีอะไรน่ากังวลเกี่ยวกับลักษณะการพูดของเขา


(5) พ่อแม่โปรดตระหนักว่าเด็กเรียนรู้ภาษาพูดได้ดีที่สุดจากเสียงที่ออกจากปากมนุษย์ด้วยกัน ไม่ใช่เสียงจาก Youtube, นิทาน CD, ปากกาพูดได้หรือสื่ออิเล็คทรอนิคส์ต่างๆ เพราะ มนุษย์เรียนรู้ได้อย่างลึกซึ้งเมื่อมีการสัมผัส มีอารมณ์ และความรู้สึกเข้ามาเกี่ยวข้อง


พ่อแม่สามารถช่วยลูกให้มีพัฒนาการทางการพูดที่ดีได้จากการพูดคุย เล่านิทาน ร้องเพลง และเล่นด้วยกันให้มาก


(6) เมื่อลูกร้อนรน ตื่นเต้นหรือกังวลจนพูดไม่รู้เรื่อง พ่อแม่ต้องใจเย็น ช่วยเตือนสติลูกโดยบอกให้ลูกค่อยๆพูด หายใจลึกๆ ถ้าพร้อมแล้วค่อยพูด พ่อแม่รอฟังอยู่ตรงนี้ไม่ไปไหน สภาพจิตใจที่สงบ หัวใจเต้นในจังหวะปกติจะทำให้เด็กมีสติและค่อยๆเรียบเรียงความคิด อวัยวะในช่องปากค่อยๆผ่อนคลาย และทำให้เด็กพูดได้ดีขึ้น


(7) ส่งเสริมให้ลูกได้เปล่งเสียงที่หลากหลายเพื่อให้อวัยวะในช่องปากทำงานอย่างเต็มที่ เมื่อเด็กมีประสบการณ์ในการใช้เสียงหรือเปล่งเสียงที่มากพอจะทำให้การออกเสียงดีตามทั้งภาษาแม่ และภาษาต่างประเทศอื่นๆต่อไป


(8) เมื่อลูกพูดได้ชัดขึ้น พูดได้คล่องขึ้น พ่อแม่ควรให้คำชม เช่น เก่งจังเลย ออกเสียงได้ถูกต้องหมดเลย ในกรณีที่ลูกกำลังพยายามอยู่ก็ให้กำลังใจ “ลูกเริ่มพูดได้ชัดขึ้นแล้ว พ่อกับแม่ฟังรู้เรื่องมากขึ้นกว่าเดิมอีก แม่ดีใจจัง”

(9) ไม่จำเป็นต้องยัดเยียดให้ลูกเรียนรู้หลายๆภาษาไปพร้อมๆกัน ควรให้ลูกใช้ภาษาอย่างถูกต้องด้วยภาษาใดภาษาหนึ่งก่อนแล้วค่อยตามมาด้วยภาษาที่สองต่อไป เพราะ เด็กบางคนสับสนได้ง่าย ยิ่งมีพัฒนาการทางภาษาที่ไม่ปกติอยู่แล้วก็ยิ่งเรียนรู้ภาษาต่างๆได้ช้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่พ่อแม่พูดภาษาที่พ่อแม่เองก็ใช้ไม่คล่อง และไม่เป็นธรรมชาติกับลูก


(10) ถ้าพ่อแม่พบว่าลูกมีความผิดปกติของการพูดที่ตนเองไม่สบายใจ และอยากได้แนวทางช่วยเหลือลูกอย่างชัดเจน ควรเข้าพบหมอด้านพัฒนาการหรือนักแก้ไขการพูดต่อไป


สิ่งที่ครูคิดว่าสำคัญพอๆกับพัฒนาการทางการพูดที่ดีคือ การบ่มเพาะให้ลูกพูดอย่างสุภาพ มีมารยาท พูดสิ่งที่ดี และมีความปรารถนาดีต่อผู้ฟัง ถ้าลูกพูดชัด พูดคล่องแต่ใช้ความสามารถในการพูดในทางที่ผิดก็ไม่เป็นผลดีทั้งต่อตัวผู้พูดเอง และผู้ฟังด้วย


ด้วยรักจากใจจริง

ครูปุ๊ก Play Academy


#เพราะการพูดที่ดีไม่ใช่มีเพียงร่างกายที่พร้อมแต่ต้องมาพร้อมกับจิตใจที่งดงาม

ดู 6 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ล่าสุด

ดูทั้งหมด

ความคิดเห็น


bottom of page