ภาพ X-Ray สองภาพนี้ฉายให้เห็นโครงสร้างมือของเด็กอายุ 3 ขวบ (อนุบาล 1) และเด็กอายุ 7 ขวบ (ชั้น ป.1) ซึ่งมีโครงสร้างที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด การเจริญเติบโตของมือที่ต่างกันย่อมทำให้ความสามารถในการใช้มือของเด็กสองวัยนี้ไม่เท่ากันอย่างปฏิเสธไม่ได้เริ่มจากข้อมือ ฝ่ามือ นิ้วมือของเด็ก 3 ขวบ ที่มีกระดูก ข้อต่อและกล้ามเนื้อที่ยังไม่เชื่อมต่อกันเท่าเด็ก 7 ขวบ โครงสร้างมือยังพัฒนาตัวเองไม่เต็มที่ และนี่คือเหตุผลที่อยากตอบคำถามพ่อแม่ที่มักถามว่า “เพราะอะไรลูกในวัยอนุบาลถึงยังเขียนหนังสือไม่ได้หรือไม่ชอบเขียนหนังสือ?”
- ข้อมือที่กล้ามเนื้อและข้อต่อยังไม่แข็งแรงมากพอที่จะบังคับทิศทางการใช้มือคือคำตอบ
- กระดูกฝ่ามือที่ยังแผ่ขยายไม่เท่าเด็ก 7 ขวบทำให้แรงที่ส่งไปยังกระดูกมือช่วงบนแผ่วเบา
การเขียนหนังสือต้องใช้ทั้งนิ้วโป้ง นิ้วชี้ และนิ้วกลางประคองดินสอ นิ้วนางและนิ้วก้อยจะงอยืดหยุ่นจัดระเบียบมือให้เขียนได้ถนัด แต่กระดูก ข้อต่อและกล้ามเนื้อของเด็ก 3 ขวบยังไม่เชื่อมต่อกันเท่าเด็ก 7 ขวบ การจัดระเบียบนิ้วจึงเป็นเรื่องยากลำบาก
เด็กในวัยอนุบาลจึงเป็นช่วงเวลาที่เด็กควรได้ทำกิจกรรมให้ข้อมือถึงปลายนิ้วได้รับการพัฒนาต่อไป
- ปั้นแป้ง ปั้นดินเหนียว
- เล่นสี (ใช้พู่กันแท่งใหญ่เล่นสีน้ำ ใช้สีเทียนและสีไม้ไซส์ใหญ่จับได้เต็มมือ)
- หัดตัดผ้าและกระดาษ ทากาว
- เล่นอิสระกลางแจ้ง ขุดดิน
- เล่นทราย น้ำ ก้อนหิน (Sensory Play)
- เล่นแต่งตัว เอาผ้ามาพัน ผูก โพก ติดและแกะกระดุม
ทดลองวิทยาศาสตร์ ร้อยลูกปัด ต่อจิ๊กซอว์ ปาบอล เป็นต้น
เมื่อร่างกายพร้อมที่จะเขียน ธรรมชาติจะส่งแรงขับให้เด็กลงมือเขียน ไม่จำเป็นต้องรีบเร่งให้เด็กทำในสิ่งที่ยังไม่ถึงเวลา แต่ละเลยสิ่งที่ต้องทำได้ตามวัย
“เด็กที่พร้อม” ในวันนี้และอนาคตอันใกล้และไกลคือเด็กที่ได้รับการส่งเสริมให้เต็มสมบูรณ์ในแต่ละขั้นของวัย ไม่ใช่เด็กที่ถูกฝึกหรือบังคับให้ทำสิ่งที่เกินวัยโดยข้ามขั้นตอนก่อนหน้านั้น เข้าข่าย “ภายนอกดูเก่งแต่ภายในกลวงโบ๋”
ด้วยรักและปรารถนาดีจากใจ
ครูปุ๊ก - ชลมาศ คูหารัตนากร
นักสุขภาพจิตเด็ก และนักจัดกระบวนการเรียนรู้
ผู้อำนวยการสถาบัน Play Academy
ที่มาของบทความ
Tomado de: Mindful Moments Preschool & Before/After School Care
ที่มาของภาพ
Carpal Ossification I Radiology Case I Radiopaedia.org
Commentaires